สาระน่ารู้ » โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก

1 ธันวาคม 2017
598   0

                โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน

 

สถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 40,417 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 62.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย ส่วนในปี 2559 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม 2559 มีผู้ป่วย 8,973 ราย คิดเป็นอัตราส่น 13.78 ต่อประชากร 1 แสนคน และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ส่วนในด้านรายงานการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากจากสำนักระบาดวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 เมษายน 2559 มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนทั้งตามโรงเรียนและในชุมชน 8 เหตุการณ์ จากจำนวนผู้ป่วย 22 ราย ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดโรคและการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนของทุกปี (พฤษภาคม-สิงหาคม) และยังเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาที่พบการแพร่ระบาดของโรคมาก

อาการของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง และอ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในตามมา

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และบางส่วนอาจเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม การสัมผัสของเหลวหรือของเสียที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจาก 2 สายพันธุ์นี้ ยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถเป็นต้นเหตุของโรคมือเท้าปากได้ คือ กลุ่มเอนเทอโรไวรัส เช่น กลุ่มโปลิโอไวรัส (Polioviruses) กลุ่มค็อกซากี้ไวรัส (Coxsackieviruses) กลุ่มเอ็กโค่ไวรัส (Echoviruses) และกลุ่มเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น ๆ (Enteroviruses)

การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก

ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองว่าเข้าข่ายโรคมือเท้าปากหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วอาการป่วยจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน แต่หากอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือทรุดหนักลง ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย ตรวจดูบริเวณที่มีแผลหรือตุ่มหนองอักเสบ โดยจะพิจารณาวินิจฉัยโรคจากหลาย ๆ องค์ประกอบ และแพทย์อาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรือตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของอาการป่วยต่อไป

การรักษาโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที หากป่วยด้วยโรคนี้ ผู้ป่วยควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดูแลอาการหรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย แล้วรอจนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไป แต่หากอาการป่วยไม่บรรเทาลง มีอาการป่วยที่ยิ่งทรุดหนัก หรือมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นเกิดขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

อาการส่วนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก คือ ภาวะขาดน้ำ เพราะการป่วยทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปากและลำคอ ทำให้กลืนลำบากและสร้างความเจ็บปวดขณะกลืนน้ำหรืออาหาร ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบตามมา มักเป็นอาการป่วยทั่วไปที่ไม่รุนแรง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก คือ อาการเล็บมือเล็บเท้าหลุด หรือภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส และภาวะสมองอักเสบ

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้ แต่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดโรค รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ ทำความสะอาดเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งไม่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด และหากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรลาพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย

อาการของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเป็นมากในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี แต่สามารถพบได้ในเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ โดยที่อาการของโรคมือเท้าปากในเด็กที่โตกว่าหรือในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก แต่อาจมีบางกรณีที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง

โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง ดังนี้

  • มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
  • ไอ เจ็บคอ
  • ไม่อยากอาหาร
  • ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย
  • มีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก
  • เด็กวัยแรกเกิดและเด็กเล็กวัยหัดเดินจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว

ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วันหลังจากมีไข้ คือ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

ตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้าและบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน

ตุ่มและแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน

สาเหตุของ โรคมือเท้าปาก

นอกจาก 2 สายพันธุ์นี้ ยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถเป็นต้นเหตุของโรคมือเท้าปากได้ คือ กลุ่มเอนเทอโรไวรัส เช่น กลุ่มโปลิโอไวรัส (Polioviruses) กลุ่มค็อกซากี้ไวรัส (Coxsackieviruses) กลุ่มเอ็กโค่ไวรัส (Echoviruses) และกลุ่มเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น ๆ (Enteroviruses)

การวินิจฉัย โรคมือเท้าปาก

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย ตรวจดูบริเวณที่มีแผลหรือตุ่มหนองอักเสบ โดยจะพิจารณาวินิจฉัยโรคจากหลาย ๆ องค์ประกอบเพื่อสังเกตรูปแบบของการติดเชื้อ อย่างอายุของผู้ป่วย รูปแบบของการแสดงอาการ และลักษณะของผื่นหรือแผลที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากมีข้อสงสัยอื่น แพทย์อาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรือตัวอย่างอุจจาระไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของอาการป่วยต่อไป

การรักษา โรคมือเท้าปาก

อาการไข้และความเจ็บปวดจากแผล ให้รับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป อย่างพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน นอกจากยาจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงแล้ว ยาเหล่านี้ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากตุ่มแผลอักเสบที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดยให้เลือกรูปแบบการใช้ยาตามความเหมาะสมกับวัยของผู้ป่วย หากเป็นเด็กเล็กอาจใช้ในรูปแบบยาน้ำรับประทาน สำหรับสตรีมีครรภ์ควรรับประทานพาราเซตามอล และควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี การใช้ยาควรศึกษาฉลากยาให้รอบคอบก่อนการบริโภค หากผู้ป่วยไม่มีไข้ ก็ไม่ควรใช้ยาเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ให้มีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าฝ้ายบาง ๆ เปิดหน้าต่างหรือพัดลมเพื่อระบายอากาศ แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัวผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวจากน้ำที่อุณหภูมิเย็นจัดแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัวเมื่อได้สัมผัสกับน้ำเย็น จะเป็นการลดการระบายความร้อนของร่างกาย และดักจับความร้อนไว้ใต้ผิวหนังส่วนที่ลึกลงไป ซึ่งอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงไปด้วย

การรักษาดูแลตุ่มแผลอักเสบภายในปาก

การใช้ยา

  • ลิโดเคน เจล (Lidocaine Gel) เป็นยาชาเฉพาะที่ ลดการเจ็บปวดในบริเวณที่ทา สามารถใช้ในเด็กได้

การใช้น้ำยาบ้วนปาก

  • น้ำเกลือบ้วนปาก สามารถใช้น้ำเกลืออุณหภูมิอุ่น ๆ ในการบ้วนปากได้ต่อเมื่อเด็กโตพอที่จะบ้วนปากได้เองโดยไม่กลืนน้ำเกลือลงไป
  • การรับประทานอาหาร ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่กลืนง่าย อย่างซุป ข้าวต้ม มันบด ไอศกรีม หรือโยเกิร์ต โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด มีรสเปรี้ยว หรือมีรสเผ็ด
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ ดื่มน้ำเปล่าหรือนมมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ หากอาการเจ็บปวดภายในลำคอและปากทำให้การดื่มหรือกลืนน้ำยากลำบาก ให้รับประทานยาแก้ปวดก่อน เมื่อยาออกฤทธิ์ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ โดยควรดื่มน้ำทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้น หากโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นกับเด็กและเด็กไม่ยอมดื่มน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป โดยแพทย์อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดทดแทน

ภาวะแทรกซ้อนของ โรคมือเท้าปาก

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบตามมา มักเป็นอาการป่วยทั่วไปที่ไม่รุนแรง อาจมีเพียงบางรายที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก ได้แก่

เล็บมือเล็บเท้าหลุด เคยมีรายงานการพบเด็กมีเล็บมือเล็บเท้าหลุดออกไปหลัง 2-3 สัปดาห์ จากการป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก แต่เล็บเหล่านั้นก็จะงอกกลับขึ้นมาใหม่ในภายหลังโดยไม่ต้องใช้การรักษาใด ๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนชนิดนี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคมือเท้าปาก

หากการติดเชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อสมอง อาจทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวกับสมอง คือ

ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral Meningitis) เกิดการอักเสบที่เยื่อบุบริเวณสมอง น้ำไขสันหลังบริเวณสมอง และเส้นประสาทไขสันหลังจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการอย่างมีไข้ ปวดหัว ปวดหลังคอแข็ง จนอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน

ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นการอักเสบที่สมองจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นอาการป่วยรุนแรงและเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และโรคโปลิโอ (Polio-like Paralysis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันส่งผลต่อเส้นประสาทสมองและไขสันหลัง แต่แทบจะไม่พบภาวะแทรกซ้อนในลักษณะเช่นนี้

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

  • สร้างสุขนิสัยรักความสะอาด โดยเฉพาะการฝึกฝนเด็กไม่ให้ใช้มือจับของเข้าปาก
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ เจล แอลกอฮออล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น หรือก่อนการเตรียมทำอาหาร
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ
  • ไม่สัมผัสของเล่น หรือใช้ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งไม่ใช้ช้อนส้อม แก้วน้ำ หรืออุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก
  • ใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม แล้วทิ้งลงถังขยะให้เร็วที่สุดหลังใช้งานแล้ว
  • ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด การจูบ การหอม
  • แยกเด็กหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากออกจากคนปกติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่วิธีที่ดีที่สุดหากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรลางานหรือหยุดเรียน แล้วพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย

แหล่งที่มา :  http://www.sopsai.sungmennfe.go.th/wp-admin/post-new.php

จัดทำโดย : กศน.ตำบลสบสาย